Article / Structural Rhinoplasty / Periorbital Surgery / Facial Contouring

ทำศัลยกรรม...ให้ปลอดภัย ต้องอ่าน

20 ธันวาคม 2563 | โดย Dr.Hope
Share

เคยได้ยินข่าวคนทำศัลยกรรมแล้วเสียชีวิตหรือไม่ตื่นเป็นเจ้าหญิงนิทราบ้างไหมครับ ข่าวการฟ้องร้อง เรียกร้องค่าเสียหายจากการทำศัลยกรรม ผมเชื่อว่าทั้งผู้เข้ารับการผ่าตัดและแพทย์ผู้ผ่าตัดก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่เกิดขึ้นกับตัวเรา เราจะหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้อย่างไร มาอ่านบทความนี้กันครับ

สวัสดีครับ หมอโฮป นพ.อธิคม ถนัดพจนามาตย์ ศัลยแพทย์ตกแต่ง กับ Channel Doctor Hope Plastic Surgery กับความรู้และความจริงในเรื่องศัลยกรรมตกแต่งครับ สำหรับคนที่กำลังตัดสินใจจะทำศัลยกรรม อย่าเพิ่งตัดสินใจก่อนอ่านบทความนี้จบครับ

มาตรฐานการระงับความรู้สึก

เมื่อพูดถึงการทำศัลยกรรมหรือการผ่าตัดอะไรคือสิ่งที่หลายๆคนกลัว ความเจ็บปวดใช่ไหมครับ แต่คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่เจ็บครับ ดังนั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในการทำผ่าตัดทุกอย่างก็คือการระงับความเจ็บปวดหรือระงับความรู้สึกครับ เรื่องของความปลอดภัยในการทำศัลยกรรมนอกจากต้องระวังการอักเสบติดเชื้อ การเสียเลือด การเลือกสถานพยาบาล เลือกแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว อีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความปลอดภัยในการผ่าตัดก็คือการระงับความความรู้สึกครับ

สิ่งสำคัญที่ช่วยให้ความเสี่ยงและปัญหาลดลงได้คือการเตรียมพร้อมครับ จากประกาศราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย ปี พ.ศ.2562 เรื่องมาตรฐานการระงับความรู้สึก

มาตรฐานการระงับความรู้สึก

ได้ระบุเรื่องอุปกรณ์เครื่องมือ และยาที่จำเป็น ถ้าหากจะมีการระงับความรู้สึกแบบทั่วไปหรือ general anesthesia หรือที่เรามักเรียกกันว่าดมยาสลบ โดยสิ่งที่จะต้องมีก็คือ

general anesthesia

เครื่องดมยาสลบ, เครื่องช่วยหายใจ, เครื่องมือใส่ท่อหายใจ, อุปกรณ์ช่วยหายใจ, อุปกรณ์ดูดเสมหะ, เครื่อง monitor ต่างๆ, เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า, ออกซิเจน, ยากู้ชีพ

รายชื่อยากู้ชีพ

  1. Adrenaline
  2. Amiodarone
  3. Atropine
  4. Calcium chloride or calcium gluconate
  5. Sodium bicarbonate
  6. Dopamine

และควรมียา dantrolene สำหรับโรงพยาบาลที่ให้การระงับความรู้สึกมากกว่า 15,000 รายต่อปี ส่วนโรงพยาบาลที่ให้การระงับความรู้สึกน้อยกว่า 15,000 รายต่อปี ต้องมีแนวทางปฏิบัติในการเข้าถึงยา

ยา dantrolene คืออะไร?

แล้วยา dantrolene มันคืออะไร สำคัญอย่างไร ยานี้เป็นยาที่ใช้รักษาภาวะ Malignant Hyperthermia แล้ว Malignant Hyperthermia มันคืออะไร สำคัญอย่างไร
จากประกาศราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย ปี พ.ศ.2562 เรื่อง แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับการดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อ Malignant Hyperthermia และผู้ป่วยที่มีอาการของ Malignant Hyperthermia

ประกาศราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย


ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า เป็นภาวะการเกิดการเผาผลาญพลังงานภายในเซลล์กล้ามเนื้อลายมากผิดปกติจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เกิดขึ้นได้ในระหว่างการได้รับยาสลบในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ทำให้เกิดอาการจากกระบวนการเมตาบอลิซึมที่สูงผิดปกติ ได้แก่ หัวใจเต้นเร็วหรือผิดจังหวะ คาร์บอนไดออกไซด์คั่งในเลือด ภาวะขาดออกซิเจน ภาวะกรด กล้ามเนื้อเกร็ง ไข้สูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนอยู่ในระดับอันตราย กล้ามเนื้อถูกทำลาย เลือดไม่แข็งตัว ระบบการไหลเวียนเลือดล้มเหลว จนเสียชีวิตได้ครับ ซึ่ง dantrolene ที่ว่า คือยารักษาภาวะนี้ครับ

นอกจากภาวะ malignant hyperthermia แล้ว ยังมีภาวะอื่นๆที่ต้องระมัดระวังอีกเช่นกัน ดังนั้นการประเมินร่างกายก่อนการระงับความรู้สึกจึงเป็นเรื่องสำคัญมากครับ แล้วต้องตรวจอย่างไรถึงจะเพียงพอ เจาะเลือดดูอะไรบ้างถึงจะพอ

คำแนะนำทางเวชปฏิบัติในการประเมินผู้ป่วยก่อนการระงับความรู้สึก 

จากประกาศราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย ปี พ.ศ.2562 เรื่อง คำแนะนำทางเวชปฏิบัติในการประเมินผู้ป่วยก่อนการระงับความรู้สึก

ได้ให้คำแนะนำในการประเมินโดยแบ่งเป็น การซักประวัติ
โดยซักประวัติเกี่ยวกับการผ่าตัดที่จะทำ โรคประจำตัวและการรักษา การได้รับการระงับความรู้สึกและการผ่าตัดครั้งก่อนๆ ภาวะแทรกซ้อนจากการระงับความรู้สึกในครอบครัว และประวัติที่เกี่ยวข้องกับการระงับความรู้สึก เช่น การงดน้ำงดอาหาร การแพ้ยา การใช้ยา อาหารเสริมหรือสมุนไพร การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือการใช้สารเสพติด ก่อนจะทำศัลยกรรมคุณถูกถามเรื่องเหล่านี้หรือไม่ครับ

จากนั้นจะเป็นการตรวจร่างกาย โดยประเมินทางหายใจ เพื่อดูเรื่องของการใส่ท่อช่วยหายใจว่าจะยากหรือไม่ การตรวจร่างกายตามระบบ โดยเน้นที่ระบบหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด และระบบที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัด
ต่อจากนั้นจะเป็นการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ก็คือการเจาะเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ x-ray ปอด ครับ และอาจมีการส่งพบแพทย์เฉพาะทางอื่นๆ ถ้ามีปัญหาหรือโรคประจำตัวครับ

แล้วต้องตรวจอะไรบ้าง ตรวจเหมือนกันทุกคนหรือไม่ การส่งตรวจขึ้นกับ 3 ปัจจัยครับ คือ

  1. ชนิดของการผ่าตัด โดยแบ่งการผ่าตัดออกเป็น 3 ประเภท ตามความเสี่ยงต่อระบบหัวใจครับ คือ เสี่ยงน้อย เสี่ยงปานกลางและเสี่ยงมาก
  2. อายุ โดยแบ่งที่ 45 ปี แต่บางโรงพยาบาลก็แบ่งที่ 40 ปี ครับ
  3. โรคร่วมหรือโรคประจำตัวที่เป็น เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ โรคไต เบาหวาน ระบบประสาท โรคเลือด

ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นตัวบอกว่าจะต้องตรวจอะไรบ้างครับ

ต้องตรวจอะไรบ้าง

จะเห็นได้ว่ากว่าจะได้ผ่าตัด จะมีการตรวจร่างกาย ตรวจเลือดหลายอย่าง เพื่อค้นหาและป้องกันปัญหารุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระหว่างและหลังผ่าตัดครับ

ผมอยากฝากให้คิดเรื่องของการตรวจประเมินก่อนผ่าตัดนะครับ การตรวจครบถ้วนตามมาตรฐานเป็นเรื่องที่ดีครับ แต่...จะดีกว่าหรือไม่ถ้าจะตรวจให้มากกว่าที่มาตรฐานกำหนด สมมุติว่าคุณอายุน้อยกว่า 40 ปี แข็งแรงดี ซึ่งตามมาตรฐานไม่จำเป็นต้องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แต่ถ้าคุณเสียเงินเพิ่มไม่กี่ร้อยบาทแล้วตรวจจะดีกว่าหรือไม่ ที่ผมพูดแบบนี้ก็เพราะว่าผมเคยมีคนไข้อายุ 20 กว่าๆ แข็งแรงดี แล้วตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจพบความผิดปกติมาแล้ว เมื่อตรวจเพิ่มเติมก็พบว่าเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ ทำให้ต้องงดผ่าตัดไปครับ ผมอยากให้คุณลองตัดสินดูเองครับว่าอยากได้แบบไหน เท่าๆมาตรฐานหรือเกินมาตรฐานครับ

ถ้ามีปัญหาเรื่องของการทำศัลยกรรม สนใจอยากทำศัลยกรรม อยากได้คำปรึกษา ส่งรูปมาให้ผมช่วยประเมินใน line official ที่ @dr.hope ได้นะครับ

รับชมคลิป ทำศัลยกรรมให้ปลอดภัย ต้องฟัง!!!