Article / Periorbital Surgery

กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง อ่อนแรงจริงหรือไม่?

23 มิถุนายน 2564 | โดย Dr.Hope
Share

อยากแก้กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง หมอบอกว่าต้องแก้กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง แล้วกล้ามเนื้อตาอยู่ตรงไหน อ่อนแรงจริงหรือไม่ มาหาคำตอบกันครับ

สวัสดีครับ หมอโฮป นพ.อธิคม ถนัดพจนามาตย์ ศัลยแพทย์ตกแต่ง กับ Channel Doctor Hope Plastic Surgery กับความรู้และความจริงในเรื่องศัลยกรรมตกแต่งครับ

การแก้กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง

ผมเชื่อว่าคนที่กำลังศึกษาข้อมูลเรื่องของการทำตาสองชั้นคงเคยได้ยินเรื่องการแก้กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงกันมาบ้าง แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าจำเป็นต้องแก้หรือไม่
คำว่า”การแก้กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง” ผมคิดว่าเป็นการใช้คำที่ไม่ถูกต้องซะทีเดียว เพราะว่าในความเป็นจริงแล้วในคนไข้บางคนกล้ามเนื้อที่เข้าไปแก้ยังคงมีแรงอยู่ เรื่องของกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจะสัมพันธ์กับเรื่องโรคหนังตาตกหรือ Blepharoptosis เรื่องนี้ผมเคยได้พูดเอาไว้แล้วในคลิป ไขปัญหาหนังตาตก ลองไปฟังกันดูได้ครับ

โรคหนังตาตกคืออะไร?

โรคหนังตาตก จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ โรคหนังตาตก และ หนังตาตกแต่กำเนิด

โรคหนังตาตก

โรคหนังตาตกศัพท์ทางการแพทย์จะเรียกว่า Blepharoptosis หรือ Ptosis of eyelid

โรคหนังตาตกตั้งแต่กำเนิด

โรคหนังตาตกตั้งแต่กำเนิด

ส่วนโรคหนังตาตกแต่กำเนิดจะเรียกว่า Congenital Blepharoptosis หรือ Congenital Ptosis จะสังเกตว่ามีคำที่เหมือนกันอยู่ 1 คำคือคำว่า ptosis

ทั้ง 2 โรคนี้จะมีอาการที่คล้ายๆกัน คือ ตาปรือ ลืมตาได้ไม่เต็มที่ แต่กลไกการเกิดโรคนั้นต่างกัน เมื่อพูดถึงโรคหนังตาตก หลายๆ คนมักจะเรียกว่าโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง คำจำกัดความที่มักพูดถึงกันก็คือเป็นโรคที่หนังตาบนลงมาคลุมตาดำมากกว่าปกติ

โรคที่หนังตาบนลงมาคลุมตาดำมากกว่าปกติ

คือ มากกว่า 2 mm แต่ในการประเมินโรคหนังตาตกเพื่อวางแผนการรักษาสิ่งที่ต้องตรวจจะมีมากกว่านั้น คือต้องตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อที่ใช้ลืมตาด้วยครับ

การตรวจรักษาโรคหนังตาตก

ในการประเมินเพื่อวางแผนการรักษาผมจะแบ่งการตรวจเป็น 3 เรื่อง คือ

  1. ระดับที่หนังตาตก คือการดูว่าหนังตาบนลงมาคลุมตาดำมากเท่าไร ถ้าตกมากก็ลงมาคลุมมาก หรืออาจใช้วิธีอีกวิธีคือวัดระยะจากแสงสะท้อนที่ตาดำ หรือวัดจากขอบหนังตาล่าง ไปที่ขอบหนังตาบนก็ได้ วิธีนี้เรียกว่า marginal reflex distance วิธีการวัดเป็นรายละเอียดที่คนไข้อาจจะไม่เข้าใจ เอาง่ายๆคือไม่ว่าจะวัดจากตรงไหน สิ่งที่ต้องการรู้คือหนังตาตกลงมามากหรือน้อยครับ
    ระดับที่หนังตาตก

  2. การทำงานของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเปิดตา กล้ามเนื้อที่ควบคุมการเปิดตามี 2 มัด คือ 1.กล้ามเนื้อ levator palpebrae superioris มักเรียกกันสั้นๆว่ากล้ามเนื้อ levator และ 2.กล้ามเนื้อ Muller’s กล้ามเนื้อ levator เราสามารถควบคุมการทำงานได้ ส่วนกล้ามเนื้อ Muller’s จะถูกควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น เวลาเราตกใจตาจะโตขึ้นเองเป็นต้นครับ การทำงานของกล้ามเนื้อตรวจได้โดยการกดคิ้วเอาไว้ไม่ให้ขยับและให้มองลงล่างสุดและมองขึ้นบนสุด เพื่อดูว่ากล้ามเนื้อขยับได้มากแค่ไหน เป็นระยะทางเท่าไร ซึ่งการตรวจนี้มีความสำคัญและเป็นตัวที่บอกจริง ๆว่ากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงหรือไม่ ซึ่งคนที่เป็นโรคหนังตาตกบางคนกล้ามเนื้อก็ทำงานได้ปกติ บางคนกล้ามเนื้อก็ทำงานลดลง ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นสาเหตุที่ชอบเรียกกันว่ากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงก็ได้ แต่ต้องเข้าใจนะครับว่าคนที่เป็นโรคหนังตาตกบางคนมีกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง บางคนไม่มีกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงครับ

  3. การประเมินภาวะอื่นๆของตาว่าจะเป็นอันตรายต่อการผ่าตัดหรือไม่ เช่น ตาแห้งหรือไม่ เวลาหลับตาตาดำเป็นอย่างไร คนปกติเวลาหลับตาตาดำจะกลอกขึ้นบนและออกข้าง เรียกว่า Bell’s phenomenon ลองไปทำกันดูได้นะครับ คือลองหลับตาแล้วพยายามเปิดหนังตาดู สาเหตุที่ต้องตรวจเพราะว่า หลังการผ่าตัดแก้ไขหนังตาตกในช่วงแรกๆ จะปิดตาได้ไม่สนิท ซึ่งถ้ามีความผิดปกติของ Bell’s phenomenon อาจทำให้เป็นแผลที่กระจกตาได้

แนวทางการแก้ไขกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง

แนวทางการแก้ไขหนังตาตกหรือที่ชอบเรียกกันว่าแก้กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ผมแบ่งเป็น 2 วิธี คือ

  1. การทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้เปิดตาหดสั้นลง จะทำ 1 มัด หรือ 2 มัดก็ได้ขึ้นอยู่กับระดับการตก การแก้โดยวิธีการกรีดยาวหรือแบบไม่กรีดก็ยึดตามหลักการข้อนี้ แค่แตกต่างกันในรายละเอียดของแต่ละเทคนิคครับ
  2. การอาศัยแรงจากกล้ามเนื้อส่วนอื่นมาเปิดตา วิธีนี้จะทำในคนที่กล้ามเนื้อที่ใช้เปิดตาอ่อนแรงมากๆจนแทบจะขยับไม่ได้เลย หลักการของวิธีนี้คือใช้กล้ามเนื้อที่ควบคุมการยักคิ้วมาเปิดตาแทน โดยอาจจะใช้วิธีย้ายกล้ามเนื้อ หรือ ทำเป็นสลิงลงมาก็ได้ขึ้นกับเทคนิคของศัลยแพทย์แต่ละคนครับ

ในเรื่องของกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงผมอยากให้เรียกว่าโรคหนังตาตกมากกว่า แต่ก็อย่าสับสนกับโรคหนังตาหย่อนนะครับ ถ้ายังไม่เข้าใจเรื่องนี้อยากให้ลองดูคลิป ไขปัญหาหนังตาตกดูนะครับ คนที่เป็นโรคหนังตาตกมีแค่บางคนเท่านั้นที่มีอาการกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงร่วมด้วยครับ ส่วนหลักการแก้ไขหนังตาตกก็มี 2 อย่าง คือ การทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้เปิดตาหดสั้นลง และ การอาศัยแรงจากกล้ามเนื้อส่วนอื่นมาเปิดตาครับ จะใช้วิธีไหนก็ขึ้นอยู่กับการประเมินว่าเป็นอย่างไรครับ

ถ้ามีปัญหาเรื่องของการทำศัลยกรรมทุก ๆเรื่อง สนใจอยากทำศัลยกรรม อยากได้คำปรึกษา ส่งรูปมาให้ผมช่วยประเมินใน line official ที่ @dr.hope ได้นะครับ

ดูคลิป กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง อ่อนแรงจริงหรือไม่?